วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สำนวนไทย

ไข่ในหิน 

       เป็นสำนวนหมายถึง ของที่ต้องระมัดระวัง ทะนุถนอมอย่างยิ่ง
       สำนวน ไข่ในหิน อธิบายได้ ๒ อย่าง
       อย่างแรก ไข่ในหิน คือ ไข่มีเปลือกเปราะ แตกง่าย  หินเป็นสิ่งที่แข็งแกร่ง เปรียบเหมือนการดูแลรักษาและปกป้องมั่นคง ไข่ที่ฝังซ่อนไว้ในหินคือสิ่งที่อยู่ในความดูแลประคับประคองที่ปลอดภัย ในเรื่องขุนช้างขุนแผน นางวันทองตัดพ้อขุนแผนที่ไม่เห็นค่าและความดีของตนที่อุตส่าห์ถนอมตัวไว้ไม่ให้มัวหมอง ว่า

          "เสียแรงน้องครองตัวไม่มัวหมอง            ดังแว่นทองส่องสว่างพระเคหา
          ดุจไข่ฝังไว้ในศิลา                                อุตส่าห์ซ่อนเร้นทั้งเรือดไร"

      อย่างที่ ๒ สำนวนนี้มักใช้เชิงประชดว่าทะนุถนอมจนเกินเหตุ โดยเปรียบกับไข่ที่อยู่ท่ามกลางหินซึ่งจะทำให้ไข่แตกได้ง่าย จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น บ้านนี้เลี้ยงลูกเหมือนไข่ในหิน พอออกไปสู่สังคมภายนอกก็ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้




ที่มา http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=4805

สำนวนไทย

สีซอให้ควายฟัง
เป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงคนโง่เง่าหรือปัญญาทึบ ซึ่งแม้เราจะพร่ำสอนพร่ำบอกอย่างไรก็ไม่ได้เรื่อง หรือเปรียบได้กับคนที่ไม่ยอมเชื่อฟังคำสั่งสอน หรือคำแนะนำชี้แจงของผู้ที่รู้ทำให้ผู้อุตส่าห์แนะนำต้องเปล่าประโยชน์ หรือเสียเวลาในการไปคอยชี้แนะนำ.




หมาเห่าใบตองแห้ง
เป็นสำนวนที่เปรียบเทียบกับสุนัขที่ชอบเห่าใบตองแห้ง คือเห่าใบกล้วยที่แห้งติดอยู่กับต้น เวลาลมพัดใบกล้วยแห้งจะแกว่งหรือเสียดสีกัน มีเสียงแกรกกราก สุนัขเห็นอะไรไหว ๆ หรือได้ยินเสียงแกรกกรากก็จะเห่าขึ้น แต่ก็เห่าไปอย่างนั้นเอง ไม่กล้าไปกัดใบตองแห้ง
กิริยาของสุนัขนี้จึงนำมาเปรียบกับคนที่ชอบพูดจาเอะอะในลักษณะที่อวดตัวว่าเก่งกล้า แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้กล้าสมกับคำพูด เช่น พวกนี้หมาเห่าใบตองแห้งทั้งนั้น ได้แต่ตะโกนด่าเขาลับหลัง ถ้าเขาเอาจริงก็ขี้คร้านจะวิ่งหนีไม่ทัน



ที่มา http://www.oknation.net/blog/vinzent/2011/01/28/entry-1



วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สำนวนไทย


หุงข้าวประชดหมา  ปิ้งปลาประชดแมว  : หมายความว่า  การทำประชดหรือทำ
แดกดันที่กลับเป็นผลร้ายแก่ตนเอง  เพราะธรรมดาแมวชอบกินปลา  ถ้ายิ่งปิ้งปลาให้แมวกินแบบประชดมาก ๆ แมวก็ยิ่งชอบ  แต่ตัวคนทำประชดจะต้องเสียผลมากขึ้น


มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ เป็นสำนวนที่หมายถึง คนที่ไม่ช่วยเขาทำงานแล้ว ยังไปทำตัวให้เป็นที่กีดขวางเกะกะแก่งานของเขาอีกด้วย เพราะเมื่อเอาเท้าหรือตีนไปราน้ำเวลานั่งเรือที่เขาพายอยู่ด้วยนั้น ก็ย่อมจะทำให้เท้าไปต้านน้ำไว้ ทำให้เรือแล่นช้าลงอีก.


ที่มา http://hilight.kapook.com/view/68531


สำนวนไทย

สำนวน ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายความว่า ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน เป็นการกล่าว เปรียบเสมือนว่าไก่สามารถเห็นตีนงู และงูก็สามารถเห็นนมไก่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไก่ไม่มีนมและงูไม่มีตีนปรากฏให้เห็น ดังตัวอย่างจากวรรณคดีไทยเรื่อง พระอภัยมณี ตอน นางเกษราว่าสี่พี่เลี้ยง “อย่าทะเลาะกันที่นี่ให้มี่ฉาว ไปว่ากล่าวถากถางกันกลางถนน เหมือนไก่เห็นตีนงูเขารู้กล มาพลอยปนแปดข้าน่ารำคาญ” หรือ “สองคนนั้น ทะเลาะกันแล้วก็เลิกรากันไป ไม่มีใครกล้าไปฟ้องหัวหน้าหรอก ต่างคนต่างรู้ความผิดของกันและกันเหมือน ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” 


สำนวนนี้เดิมใช้ว่า ไก่เห็นนมไก่ งูเห็นตีนงู ซึ่งมีความหมายว่า พวกเดียวกันย่อมรู้เท่ากัน ดังคำอธิบายในโคลงโลกนิติ ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร ว่า “ตีนงูงูไซร้หาก เห็นกัน นมไก่ไก่สำคัญ ไก่รู้ หมู่โจรต่อโจรหัน เห็นเล่ห์ กันนา เชิงปราชญ์ฉลาดกล่าวผู้ ปราชญ์รู้เชิงกัน” 

สรุปว่า สำนวนทั้งสองมีความหมายต่างกัน คือ ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ หมายถึง ต่างฝ่ายต่างรู้ความลับของกันและกัน และ ไก่เห็นนมไก่ งูเห็นตีนงู หมายถึง พวกเดียวกันย่อมรู้เท่ากัน 

ที่มา http://www.davance.com/g-thai/gthai5.php

สำนวนไทย


       สำนวนไทย 

คือถ้อยคำหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่]หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สำนวน คือถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือความที่เรียบเรียงขึ้นในเชิงอุปมาอุปมัยโดยมีนัยแฝงเร้นซ่อนอยู่อย่าง ลึกซึ้ง แยบคาย เพื่อให้ผู้รับได้ไปตีความ ทำความเข้าใจด้วยตนเองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจแตกต่างไปความหมายเดิมหรืออาจคล้ายคลึงกับความหมายเดิมก็ได้ สันนิษฐานว่า สำนวนนั้นมีอยู่ในภาษาพูดก่อนที่จะมีภาษาเขียนเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยเมื่อพิจารณาจากข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ก็พบว่ามีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น ไพร่ฟ้าหน้าใส หมายถึง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข
คุณค่า       
ภาษาพูดหรือภาษาเขียนของชนแต่ละชาติย่อมจะมีอยู่ด้วยกันสองอย่าง คือ พูดตรงไปตรงมาตามภาษาของตนเอง เป็นภาษาพูดที่ต่างคนต่างฟังเข้าใจกันได้ง่าย พูดเป็นชั้นเชิง มีการใช้โวหารและคำคล้องจองในการพูดและการเขียน ทั้งนี้ เพื่อให้ความหมายชัดเจนหรือขยายความออกไปให้กระจ่างขึ้น หรือเพื่อให้เกิดความไพเราะน่าฟัง เป็นภาษาที่เราเรียกว่า "โวหาร" "เล่นลิ้น" หรือ" พูดสำบัดสำนวน" สำนวนเหล่านั้นจะแสดงความหมายอยู่ในตัวประโยคนั้นเอง



ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2